นักเขียนกับบล็อกเกอร์ อัศจรรย์แห่งความเหมือนที่แตกต่าง
เคยนึกสงสัยกันไหมครับว่านักเขียนกับบล็อกเกอร์นั้นต่างกันยังไง ?
คำถามนี้เกิดขึ้นมาเนื่องจากผลิตผลของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากการเขียนด้วยหมึกลงในหน้ากระดาษ ไปสู่การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด จนมาสู่ยุคการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์หรือจากอุปกรณ์ไอทีอย่างมือถือหรือแท็ปเล็ต
รูปแบบการนำเสนอก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน จากหนังสือเล่ม สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ไปสู่ ebook email e-magazine website social media aplication และก็ e อะไรต่อมิอะไรอีกนับไม่ไหว
..นักเขียนกับบล็อกเกอร์แตกต่างกันที่อุปกรณ์หรือแพล็ตฟอร์มที่นำเสนอเท่านั้นหรือ ??
ในบทความนี้ผมจะมาตั้งข้อสังเกตระหว่างนักเขียนกับบล็อกเกอร์ว่าทั้งสองอาชีพนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง หรือท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ?
อ่านเพิ่ม > อะไรคือความแตกต่างระหว่าง นักเขียนกับบล็อกเกอร์
นิยามนักเขียน
นักเขียนคือผู้ที่ประกอบอาชีพในทางขีดเขียน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนมือสมัครเล่น หรือนักเขียนมืออาชีพก็เรียกว่านักเขียนเหมือนกัน (นักเขียนที่มีผลงานเป็นหนังสือเล่มมักใช้คำว่านักประพันธ์)
นักเขียนสามารถทำงานได้หลากหลายเช่น scriptwriter, copywriter, ghostwriter, content writer
โดยปกติแล้วนักเขียนคือผู้ที่รับจ้างเขียนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต่างจากบล็อก
เกอร์…
แล้วบล็อกเกอร์ล่ะเป็นอย่างไร ?
นิยามบล็อกเกอร์
บล็อกเกอร์หรือคนเขียนบล็อกเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เป็นมากกว่าการเขียน นักเขียนนั้นแค่เขียนต้นฉบับส่งให้ editor แล้วส่งให้บรรณาธิการพิจารณาถ้าผ่านก็ได้ตีพิมพ์ ภาพประกอบหรือการทำตลาดก็เป็นเรื่องของสำนักพิมพ์ดำเนินการ
แต่บล็อกเกอร์เป็นมากกว่านั้น !
บล็อกเกอร์อาจไม่ได้มาจากนักเขียนโดยตรง ..นักพูด ช่างภาพ นักดนตรี หรืออาชีพไหน ๆ ก็สามารถเป็นบล็อกเกอร์ได้
ที่สำคัญบล็อกเกอร์นั้นมีความสามารถแบบ multitasks หรือมีความสามารถรอบด้าน เช่น เขียนคอนเทนท์ ถ่ายรูป แต่งรูป SEO motion-graphic VDO ซึ่งนักเขียนนั้นไม่มีความถนัดแบบนั้น ถ้าใครมาถามผมผมก็จะบอกว่าผมเป็นบล็อกเกอร์ ซึ่งที่จริงผมก็ทำงานเขียนทั้ง ebook ghostwriting freelance ด้วยเหมือนกัน
อะไรที่เหมือนกัน
บล็อกเกอร์นั้นบางท่านอาจไม่ใช่นักเขียนอาชีพ เลยต้องกลายมาเป็นนักเขียนแบบตกกระไดพลอยโจน จุดนี้เลยทำให้งานเขียนบล็อกบางครั้งก็มีมาตรฐานที่ค่อนข้างต่ำ โชคดีของบล็อกเกอร์ที่เขาเหล่านั้นมีจุดแข็งที่นักเขียนไม่มี
จุดแข็งที่ว่านั้นคืออะไร ??
จุดที่เหมือนกันของนักเขียนกับบล็อกเกอร์ก็คือการได้สร้างสรรค์งานผ่านตัวหนังสือ บล็อกเกอร์รู้ว่าถึงแม้เขาไม่สามารถดัดแปลงถ้อยคำให้สวยงามได้เท่ากับนักเขียน แต่เขารู้ว่าจะสร้างคอนเทนท์ยังไงให้คนชื่นชอบ เขียนแบบไหนให้ได้อยู่บนหน้า 1 กูเกิ้ล นี่คือจุดแข็งของบล็อกเกอร์…..
บล็อกเกอร์ทำการตลาดได้เก่งกว่านักเขียน…….
อะไรที่แตกต่าง
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในความแตกต่างก็คือ นักเขียนขายผลงานเขียน ส่วนบล็อกเกอร์นั้นใช้การเขียนบล็อกเพื่อส่งเสริมการขายหรือสร้างภาพลักษณ์
นักเขียนต้องรู้ซึ้งรู้จริงในสิ่งที่เขียน การเขียนหนังสือหนา 200 หน้านั้นใช้เวลาไม่น้อยว่าสามเดือน บล็อกเกอร์นั้นต้องรู้ตลาด คอนเทนต์ใดบ้างเขียนแล้วโดน คีย์เวิร์ดไหนเป็นคีย์เวิร์ดทำเงิน
บล็อกเกอร์ถูกสร้างมาเพื่อให้แก้ปัญหา ในขณะที่นักเขียนถูกสร้างมาเพื่อตั้งคำถาม
ความสำคัญของทั้งหมดคืออะไร
สิ่งที่แปลกคือนักเขียนกับบล็อกเกอร์ทำงานเขียนเหมือนกันก็จริง แต่ก็เหมือนอยู่กันคนละซีกโลก นักเขียนหมกมุ่นกับตัวหนังสือเพื่อให้ออกมาประทับใจผู้อ่านมากที่สุด บล็อกเกอร์หมกมุ่นกับตัวหนังสือเหมือนกันเพื่อให้มีคนติดตามเพิ่มขึ้น
การเขียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำบล็อก
ในขณะที่พื้นที่งานเขียนสิ่งพิมพ์น้อยลงทุกที นักเขียนบางส่วนก็ได้ปรับตัวกับสื่อดิจิทัล เขียน ebook(self -publishing) สร้าง blog สร้างตัวตนใน social media
นักเขียนที่สามารถเป็นบล็อกเกอร์ได้ย่อมได้เปรียบ หากเขาใช้ความพยายามเอกอุในการเขียนหนังสือเขาย่อมสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่บล็อกเกอร์ทำได้
และเราจะนิยามตัวตนว่าอย่างไร
ทุกท่านก็คงมีคำถามในใจเหมือนผมใช่ไหมครับว่า และเราจะนิยามตัวตนว่าอย่างไร ?
จะเป็นบล็อกเกอร์หรือนักเขียน มันก็สุดแล้วแต่ท่านจะเลือกครับ ในความเห็นของผมถ้าท่านรักการเขียนจริง ๆ ไม่ว่าจะเขียนลงบนสื่อไหนท่านก็คงหาความสุขได้ นักเขียนมืออาชีพสามารถปรับตัวได้หากโลกนี้ยังรังสรรค์ได้ด้วยตัวอักษรครับ
ผมมีความสุขที่ได้เขียนบล็อกโพสต์ เช่นเดียวกับได้รับจ้างเขียนบทความ หรือเขียนหนังสือ ท่านผู้อ่านสามารถเป็นได้ทั้งสองอย่างครับเหมือนคนที่ฝึกใช้มือขวาและซ้ายได้ถนัดพอ ๆ กัน ย่อมได้เปรียบฉันใดก็ฉันนั้นครับ
แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า วันนี้หวังว่าท่านจะสนุกและได้สาระบ้างไม่มากก็น้อย ขอบคุณที่ติดตามครับ
เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก Blogging ‘vs.’ Writing: Why the Weird Reputation?
Credit
ภาพโดย Manuel Manteiga