อะไรคือความสำคัญของปริมาณหรือคุณภาพ ที่มีผลต่อการเขียนบล็อกโพสต์

การเขียนบล็อก สร้างบล็อกนั้นได้รับความนิยมจนคล้าย ๆ กับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมออนไลน์สมัยใหม่  การมีโซเชียลมีเดียอาจเปรียบได้กับการมีรถยนต์  ส่วนการมีบล็อกหมายถึงบ้านทั้งหลัง 

การเขียนบล็อก สร้าง ตกแต่ง ก็เพื่อต้อนรับผู้ที่จะมาเยี่ยมเยียนด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่น่าสบาย  บทความก็หมายถึงการพูดคุยด้วยรอยยิ้มและมิตรไมตรี  


และนั่นก็เป็นประเด็นที่ผมจะมาคุยกับทุกท่านในวันนี้ว่าจะเขียนบล็อกโพสต์ออกมาอย่างไรให้เหมาะสมพอดีทั้งคุณภาพที่ดีและปริมาณพอเหมาะ  ไม่ใช่อย่าง “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” อย่างคำโบราณท่านว่าครับ

9 blog ฟรียอดนิยม

ชื่อเรื่อง (title)

ไตเติ้ลคือชื่อของเรื่อง เป็นสิ่งที่หลายคนมักมองข้ามเนื่องจากไปเน้นที่เนื้อหาหลักมากกว่า  แต่ต้องอย่าลืมนะครับว่าการแสดงผลของ SERPs บนกูเกิลนั้นเป็นแบบย่อ (snippet)  ซึ่งไตเติ้ลที่มีเนื้อหาดึงดูดก็จะถูกคลิกมากกว่า 


และสิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือความยาวของไตเติ้ลที่ไม่ควรเกิน 60-62 ตัวอักษรหากยาวกว่านั้น  กูเกิลก็จะตัดส่วนที่เกินออกซึ่งอาจทำให้ไตเติ้ลของท่านเสียรูปประโยคได้ครับ


บทนำ (intro) 

 จะอยู่ถัดจากชื่อเรื่อง เป็นย่อหน้าแรกของเนื้อหา  บทนำมีหน้าที่สร้างความสนใจใคร่รู้ต่อผู้อ่าน ให้อยากเข้ามาอ่านในส่วนรายละเอียด 

..ย้ำนะครับว่าบทนำมีหน้าที่เหมือนคนโบกธงหน้าปั๊ม  สร้างจุดสนใจกระตุ้นให้คนอยากเข้ามารู้รายละเอียดมากขึ้น 


หน้าที่ของบทนำคือขยายความสนใจต่อจากชื่อเรื่องเพื่อเป็นสะพานให้ผู้อ่านข้ามไปสู่รายละเอียดอย่างกระตือรือร้น


ใช้ซับเฮดดิ้ง (sub-headings)

ทำไมการใช้ sub-headings ถึงมีความสำคัญก็เพราะว่าการอ่านหน้าจอดิจิตอลเป็นการอ่านแบบสำรวจ ต่างจากการอ่านจากสื่ออื่นๆเช่น หนังสือพิมพ์, หนังสือ ซึ่งเป็นการอ่านแบบเอารายละเอียด

ดังนั้นการใช้ sub-headings (h2-h6) จะช่วยให้การอ่านจากสื่อดิจิทัลสะดวกขึ้น  อีกประการหนึ่ง subheading เป็นส่วนขยาย topic หรือ h1 ของเรื่องที่กูเกิลให้ความสำคัญ


ใช้ bullet

bullet มีลักษณะการใช้งานเหมือนลิสต์ของรายการ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนอื่น ๆ   

ลองนึกภาพดูหากรายการที่ท่านจดไว้ก่อนจะออกไปตลาด เนื้อหมู, เนื้อไก่, กุ้ง, ผักคะน้า, ถั่วฝักยาว, ต้นหอม, ผักชี, กระเทียม, น้ำมันพืช

เทียบกับแบบนี้…..

  • เนื้อหมู
  • เนื่อไก่
  • กุ้ง
  • ผักคะน้า
  • ถั่วฝักยาว
  • ต้นหอม
  • ผักชี
  • กระเทียม
  • น้ำมันพืช


แบบไหนจะอ่านง่ายกว่ากันครับ
แน่นอนแบบที่สองที่มีบุลเล็ตย่อมอ่านง่ายกว่า


ข้อดีของบุลเล็ตที่ชัดเจนก็คือช่วยย่อยข้อมูลที่มีปริมาณมากให้อยู่ในรูปแบบของรายการที่สามารถเข้าใจได้ง่าย  การที่บุลเล็ตมีการแยกแต่ละย่อหน้าจึงสะดวกที่จะนำไปใช้ในส่วนต่างๆเช่น:

  • เอาวางไว้ถัดจาก intro เพื่อแสดงหัวข้อในเนื้อหาที่จะกล่าวถึงทั้งหมด
  • ใช้ในส่วนกลางโพสต์เพื่อการแตกประเด็นย่อยสำหรับเนื้อหาขนาดยาว
  • เพื่อนำเสนอแนวคิดหรือไอเดียหลากหลาย
  • ใส่ไว้ในท้ายเรื่องเพื่อสรุปประเด็นหรือกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดความคิด

ใส่ keyword

สิ่งสำคัญสำหรับการเขียนบทความสำหรับบล็อกหรือบล็อกโพสต์นั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ keyword หรือ keyphrase ที่หมายถึงคำหรือกลุ่มคำเป้าหมายสำหรับสอดแทรกเพื่อสามารถทำอันดับที่ดีบนกูเกิล 

แทรกคีย์เวิร์ดในชื่อเรื่อง ในอินโทร  ใน subheading  ในส่วนรายละเอียด ให้ครบถ้วน  โดยเฉพาะในส่วนไตเติ้ลที่ห้ามพลาด  


ที่จริงปลั๊กอิน SEO ดี ๆ ก็จะช่วยในเรื่องนี้ได้พอสมควร  แต่ผมอยากติงซักนิดครับว่าบางครั้งการเขียนให้อ่านได้เข้าใจชัดเจนก็สำคัญมากกว่าที่จะไปเน้นคีย์เวิร์ดจนอ่านไม่รู้เรื่อง



อัลกอริทึมรุ่นปรับปรุงใหม่ของกูเกิล bert มีความฉลาดสามารถเข้าใจเจตนาของผู้ค้นหาได้ดีขึ้น  การที่ท่านใช้คีย์เวิร์ดนั้นดีอยู่แล้ว แต่ควรผสมคำใกล้เคียงหรือคำที่เกี่ยวข้องเข้าไปในเนื้อหาเพิ่มมากขึ้น 

เพื่อให้บทความดูเป็นธรรมชาติ  และยังสามารถทำ ranking ได้จากหลากหลาย keyword จากเนื้อหาเดียวกัน

คำนึงถึงเจตนาของการค้นหา serch intent

การสร้าง content เพื่อหวังทำอันดับจากคีย์เวิร์ดต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยสำหรับบล็อกเกอร์ทุกสาขา  โดยเฉพาะในเรื่องของเจตนาของการค้นหาว่าผู้ค้นหาต้องการหาข้อมูลแบบไหน

ข้อมูลข่าวสารทั่วไป หรือข้อมูลสินค้าบริการที่เราจะต้องทราบ เพื่อการวางแผนสร้างคอนเทนต์ได้อย่างถูกต้อง

กระชับเนื้อหา

เนื้อหาที่เขียนเสร็จในดราฟแรกนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด บล็อกเกอร์หรือนักเขียนจึงต้องมีการแก้ไขเนื้อหาถึงสองสามรอบ  เพื่อให้เนื้อหาที่ได้นั้นออกมาดีที่สุด

วิธีการหนึ่ง.. ก็คือตัดคำที่ฟุ่มเฟือยออก เช่น และ กับ หรือ ที่เป็นคำเชื่อมที่ไม่ควรใช้ซ้ำบ่อยจนเกินไป   


วิธีการที่สอง.. ประโยคที่ดูวกวนเช่น “วันนี้ผมจะไปโรงพยาบาลสักหน่อย ไปให้หมอเช็คว่าปวดท้องเพราะอะไร”  กับประโยค “วันนี้ผมจะไปหาหมอเช็คอาการปวดท้องสักหน่อย”  จะเห็นได้ว่าประโยคที่สองกระชับเข้าใจง่ายโดยไม่ต้องมีคำว่าโรงพยาบาล



การกระชับเนื้อหาก็คือการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย แต่ทรงพลัง  จริงอยู่ครับถึงแม้กูเกิลจะให้คะแนนกับความยาวของเนื้อหา  แต่ความกระชับไม่เยิ่นเย้อจะช่วยให้งานของท่านมีมาตรฐานสูงในสายตาของผู้อ่าน


ใช้ประโยคคำถาม

กูเกิ้ลนั้นเป็น semantic search engine หรือแปลให้เข้าใจก็คือเป็นเครื่องมือค้นหาที่ตอบสนองต่อ…

  • เจตนาของผู้ค้นหา searcher intent
  • บริบทของคำถาม query context
  • ความเกี่ยวข้องของคำ the relationships between words



ด้วยเหตุนี้การใช้คำถามจึงสำคัญต่อการสร้างคอนเทนต์  การใช้ประโยคคำถามในส่วนไตเติ้ล, หรือ sub-heading นั้นมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการแทรกคีย์เวิร์ดในรูปแบบต่าง ๆ  เพราะอะไรเหรอครับ


ก็เพราะว่าคำถามนั้นมีความสำคัญต่อการค้นหาแบบ voice serch   ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ  การใช้ประโยคคำถามหรือ question keyphrases นั้นยังช่วยให้กูเกิ้ลพยายามแจกจ่าย traffic ให้กับหน้าอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงด้วย


มีลิงก์ที่ถูกต้อง

โครงสร้างของเว็บไซต์จะดีได้ต้องจัดการเรื่อง internal และ external links ให้ดี การมี external links ที่ชี้ url ไปยังเพจที่มีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกันนั้นเป็นสิ่งที่ควรงดเว้น 

เช่นเดียวกันครับการมีลิงก์ภายใน internal links ที่ชี้ไปยังหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกันก็ไม่ควรทำ  สาเหตุก็เพราะว่าจะทำให้ความต่อเนื่องในเนื้อหานั้นสะดุดลง  และกูเกิลย่อมไม่ชอบใจแบบนี้  

การมี external links ที่ดียังช่วยในเรื่องความเป็นมืออาชีพในการจัดการเนื้อหาอีกด้วย  นอกจากนั้นยังเป็นป้ายบอกทางชั้นดีให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ค้นหาข้อมูลได้กว้างขวางขึ้น


มีบทสรุปที่ย่อยความคิดหรือนำไปต่อยอดไอเดียได้

บทสรุปหรือตอนจบของแต่ละบทความนั้นเป็นสิ่งสำคัญ  ถ้าจะเปรียบตรงส่วนอินโทรเป็นพิธีเปิดงานที่งดงามตระการตาแล้ว  ส่วนสรุปก็ควรจะเป็นเหมือนได้รับห่อของขวัญชิ้นใหญ่


ผมเจอมาไม่น้อยครับที่บทความส่วนใหญ่ ไตเติ้ล อินโทร รายละเอียดดีมาก  แต่เคยได้ยินคำพูดนี้ไหมครับว่า “ดันมาตายตอนจบ”  ที่จริงการจบบทหรือสรุปก็ไม่ได้ต้องมีอะไรวุ่นวายซับซ้อนนะครับ  ก็อย่างที่ผมบอกเหมือนได้ของขวัญ  


การสรุปสำหรับผมควรจะได้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่าง  หรือได้ไฟในการทำงานเพิ่มขึ้น  กระชับ จุดประกาย  ท้าทายความคิด  นี่คือสิ่งที่บทสรุปของบทความที่ควรจะมีครับ


update เนื้อหาอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ใคร ๆ ก็มักจะพูดกันใช่ไหมครับว่าให้อัพเดทบล็อกบ่อยๆหากหวังอยากให้บล็อกโต  ผมก็จะพูดในประโยคเดียวกันครับว่าให้อัพเดทบล็อกบ่อย ๆ แต่บ่อยแค่ไหนล่ะ ?


เชื่อไหมครับว่าพอนานวันเข้าคุณจะมีเหตุผลสารพัดเลยครับ ต้องอาบน้ำแมว เรียนภาษา ไปรับลูก นั่นนี่โน่นเพื่อที่จะถ่วงเวลาออกไป  แต่เชื่อผมเถอะครับว่ายังไงท่านก็ต้องกลับมาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ดี 


การวางแผนงานช่วยท่านได้ครับ  ก็เหมือนวางแผนทั่ว ๆ ไปลงบนกระดาษหรือซอร์ฟแวร์  ตั้งเป้าหมายว่าท่านจะอัปเดตบทความกี่บทในเดือนนี้หรือในสามเดือน


การวางแผนมี deadline จะกระตุ้นให้ท่านจริงจังและกันไม่ให้หลงลืม

การอัปเดตบล็อกโพสต์นั้นไม่ได้มีกติกาอะไรครับ แต่จากสถิติพบว่ายิ่งอัพเดทบ่อยเท่าไรก็จะมี traffics มากขึ้นเท่านั้น

ภาพจาก Neil Patel

หากท่านเพิ่งเปิดบล็อกใหม่ก็ขยันอัปเดตโพสต์หน่อยครับอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง  หรืออย่างเต็มที่อย่าให้น้อยกว่าเดือนละครั้ง

บทสรุป

ปริมาณกับคุณภาพต้องมาคู่กันหากอยากเขียนโพสต์ให้เป็นที่ชื่นชอบของกูเกิ้ลหรือผู้เยี่ยมชม  บทความที่มีคุณภาพนั้นไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาที่ยาว 

หรือถ้าท่านอยากเห็นบทความยาว ๆ ถูกแชร์ไปตามโซเชียลต่าง ๆ ก็ควรคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ ข้างต้นที่เราได้พูดถึงกันมาแล้วครับ ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพ ความน่าอ่านให้กับบทความ

อย่าลืมนะครับว่าท่านเขียนให้คนอ่านไม่ใช่หุ่นยนต์ ดังนั้นบทความที่อ่านสนุก มีประโยชน์ ถึงไม่ถูกตามหลักเกณฑ์เป๊ะ ๆ ก็ต้องถือว่าเป็นผลงานที่ไม่เลวเลยที่เดียว

ขอบคุณที่ติดตามไว้พบกันใหม่คราวหน้าครับ

Ebooks เพื่อนักสร้างบล็อกมืออาชีพ >> สนใจคลิ๊ก

Leave a Comment