อะไรคือความแตกต่างระหว่าง นักเขียนกับบล็อกเกอร์

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง นักเขียนกับบล็อกเกอร์

ในบทความที่แล้วผมได้พูดถึง “อัศจรรย์แห่งความเหมือนที่แตกต่างของนักเขียนกับบล็อกเกอร์”  ในมุมมองต่อการทำงานและจุดยืนของอาชีพ

ส่วนในบทนี้ผมจะมาขยายความต่อในเรื่องของความแตกต่างของนักเขียนกับบล็อกในแง่ของเนื้องาน  

เทคนิคที่ทั้งบล็อกเกอร์และนักเขียนใช้นั้นมีความยากไปคนละแบบ  นักเขียนนั้นเขียนเพื่อให้บรรณาธิการกับคนทั่วไปอ่าน  บล็อกเกอร์นั้นไม่มีบรรณาธิการแต่ต้องเอาใจกูเกิ้ลไปพร้อม ๆ กับคนอ่าน

เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราจะมาลองดูกันครับว่าข้อแตกต่างนั้นมีอะไรบ้าง

คำ/คีย์เวิร์ด

การเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายเช่น จุลสาร  แม็กกาซีน  หนังสือพิมพ์  หนังสือเล่ม  นักเขียนสามารถประดิษฐ์คำให้ไพเราะวิลิศมาหรายังไงก็ได้ และก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะหนังสือต้องเขียนให้ผู้อ่านติดตามจนจบเล่ม  

การเขียนบล็อกโพสต์นั้นต่างออกไป   ผู้อ่านจะไม่ได้เห็นผลงานของคุณแน่  หากคุณไม่ใช้คีย์เวิร์ดที่ถูกต้องเพื่อไปอยู่ในหน้าแรกของกูเกิ้ล  ระบบ AI ของกูเกิ้ลจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ผู้ค้นหาต้องการผ่านคำค้น   ดังนั้นการทำ SEO จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบล็อกเกอร์


สรรพนาม

เทคนิคการเล่าเรื่องของหนังสือหรือวรรณกรรมนั้นมักใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 หรือ 3 เพื่อสร้างมุมมองที่น่าสนใจให้กับนักอ่าน   นักอ่านนั้นเชื่อว่าเขาหรือเธอสามารถมีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครต่างๆในหนังสือได้   

บล็อกเกอร์นิยมใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เพื่อการเข้าถึงผู้อ่านอย่างเป็นกันเองแบบธรรมชาติที่สุด  จากมุมมองของบล็อกเกอร์นั้นต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นกันเองกับผู้อ่าน  ดังนั้นการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 จึงเป็นที่นิยมมากที่สุด


การแก้ไข/อัพเดท

อุปกรณ์ที่ทันสมัยช่วยให้การปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาต่างๆทำได้ง่ายแค่ไม่กี่คลิก  ผมสังเกตครับว่านี่คือความสะดวกสบายอย่างหนึ่ง บล็อกเกอร์สามารถสร้าง content ที่ไหนก็ได้ผ่านอุปกรณ์อย่างมือถือ แท็ปเล็ต   ตอนนั่งรอเพื่อน  นั่งรถไฟฟ้ากลับบ้าน  หรืออยู่ในสถานที่น่าอึดอัด  ท่านก็สามารถสร้างคอนเทนท์ได้อย่างง่ายดาย  และเมื่อคอนเทนต์ถูกเผยแพร่ไปแล้วก็ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ตลอดเวลา

นักเขียนมีวิธีการทำงานต่างออกไป  จริงอยู่ถึงแม้นักเขียนจะแก้งานได้ผ่านอุปกรณ์ไอทีอย่างสะดวกสบาย  แต่เมื่อไหร่ที่งานชิ้นนั้นถูกตีพิมพ์ก็ต้องถือว่าเป็นอันสิ้นสุด  จะปรับปรุงได้ก็ต่อเมื่อมีจัดพิมพ์ครั้งต่อไป

ตรงนี้เองที่นักเขียนต้องมีความรอบคอบในรายละเอียด  ซึ่งก็อาจจะต้องใช้สมาธิที่ใช่ว่าจะนั่งทำที่ไหนก็ได้


เชิงอรรถ/ลิ้งค์

เชิงอรรถของหนังสือกับลิงค์ในบทความนั้นถึงแม้จะมีหน้าที่การทำงานใกล้เคียงกันแต่ก็ยังไม่เหมือนกันซะทีเดียว

เชิงอรรถนั้นมักอยู่ด้านล่างของหน้าหนังสือที่มีหน้าที่หลายประการเช่น

  • บอกที่มาของข้อมูล
  • บอกแหล่งค้นหาเพิ่มเติมให้กับผู้อ่าน
  • แสดงความขอบคุณต่อส่วนร่วมในเนื่อหา
  • แสดงความคิดเห็นหรืออภิปราย
  • อธิบายขยายความคำต่างๆเพิ่มเติม

จะเห็นได้เลยใช่ไหมครับว่าเชิงอรรถนั้นมีความสำคัญไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ที่จะช่วยเสริมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ท่านได้เพลิดเพลินกับการอ่านเพิ่มขึ้น  

บล็อกเกอร์ไม่ได้สร้างลิงค์ในบทความให้ทำงานเหมือนเชิงอรรถซะทีเดียว  บล็อกเกอร์ที่ไม่มีประสบการณ์มักให้ความสำคัญกับลิงค์เป็นลำดับสุดท้าย  

ครับ…ในเรื่องนี้ผมก็ค่อนข้างจะเห็นใจบลอกเกอร์มือใหม่เหล่านี้  เพราะการทำลิงค์ให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก  ลิงค์เป็นเรื่องของ site structure ที่ท่านควรให้ความสำคัญเสียแต่เนิ่นๆครับ


การใช้ภาษา

ในมุมของนักเขียนนั้นการใช้ภาษามีหลายระดับ   ภาษาทั่วไป  ภาษากึ่งทางการ  ภาษาทางการ  ที่นักเขียนจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะกับเนื้อหาหรือผู้อ่าน  

การใช้ภาษาที่สละสลวยย่อมได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีวรรณศิลป์  นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนยิ่งต้องใช้วรรณศิลป์ที่ดีเยี่ยม ในการเชื่อมโยงผู้อ่านวัยเยาว์เข้ากับจินตนาการที่น่าตื่นเต้น

ในมุมของนักเขียนบล็อกนั้นวรรณศิลป์เป็นเรื่องรอง  คุณเคยเห็นไหมล่ะครับว่ามีใครใช้ภาษาสละสลวยในการเขียนบล็อก ?   

งานเขียนบล็อกโพสต์นั้นสิ่งสำคัญคือความชัดเจน  ผู้อ่านบล็อกต้องการเนื้อหาที่ตอบคำถามชีวิตพวกเขาได้ทันทีเร็วที่สุด สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ 

รู้ไหมครับว่าทำไม ?

ก็เพราะว่าพวกเขาจะไม่เสียเวลากับบล็อกที่ไม่ได้ให้คำตอบหลังจากอ่านผ่านไปแล้วสองย่อหน้า  การเขียนบล็อกโพสต์จึงต้องอาศัยความชัดเจน กระชับไม่ยาวเกินไป มีคีย์เวิร์ดที่ผู้ค้นหามองหา  และให้คำตอบที่น่าพอใจ


การทำงาน

มาถึงเรื่องวิธีการทำงานของทั้งสองอาชีพนี้กันครับว่าเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน   โดยหลักการผมคิดว่าวิธีการทำงานของทั้งสองนั้นใกล้เคียงกัน  แต่ต่างกันที่รายละเอียดมากกว่า

งานของนักเขียนต้องแก้ไขแล้วแก้ไขอีกจนกว่าบรรณาธิการจะพอใจ(ยกเว้นว่าคุณพิมพ์เองขายเอง)  กว่าขั้นตอนต่างๆจะเสร็จก็ร่วมกลายเดือนหรืออาจถึงปี  จึงต้องอาศัยความอดทนสูงมาก

งานของบล็อกเกอร์เป็นงานที่แก้ไขได้ตลอดเวลาผ่านเบราเซอร์หน้าจอคอมพ์  ถึงยังงั้นบล็อกเกอร์ก็มีงานที่ซับซ้อนกว่า  ในเรื่องของเทคนิคในการเขียนที่มากว่าแค่การเล่าเรื่อง  การทำตลาด SEO  Social media  การสร้าง Brand  งาน Fluencer  เป็นเรื่องที่นักเขียนบล็อกจะละเลยไม่ได้


สรุปว่า…

ที่ผมนำเสนอบทความนี้ก็เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เปรียบเทียบความแตกต่างของทั้งนักเขียนและบล็อกเกอร์ว่ามีลักษณะการทำงานต่างกันอย่างไร  เพราะมีบางท่านก็เคยคำถามนี้กับผม

การจะชี้ชัดว่าทั้งสองอาชีพนี้ต่างกันยังไงก็เพื่อแสดงจุดยืน  บางท่านที่เป็นนักเขียนที่อยากผันตัวเองมาเป็นบล็อกเกอร์  หรือทำทั้งสองอย่าง ก็สามารถรู้และเตรียมตัวได้ถูกต้องครับ 

วิธีการของทั้งนักเขียนกับบล็อกเกอร์สามารถปรับใช้กันได้  และในโลกนี้ผู้ที่เป็นทั้งนักเขียนและบล็อกเกอร์ก็มีไม่น้อยครับ  ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบ แล้วไว้พบกันใหม่โพสต์หน้ากับ Mayiblog-ใครๆก็บล็อกได้  ลาไปก่อนสวัสดีครับ

Ebooks เพื่อนักสร้างบล็อกมืออาชีพ >> สนใจคลิ๊ก



CREDIT
– ภาพโดย Arek Socha
– http://www.trueplookpanya.com/new/asktrueplookpanya/questiondetail/1405
– https://blogsitestudio.com/5-differences-writing-and-blogging/

Leave a Comment