เริ่มเขียนบล็อกอย่างไร ให้สนุกและมีสาระ
บล็อกที่เพิ่งเริ่มสร้างนั้นแม้จะดูดีด้วยการใช้ธีมตกแต่งราคาแพง แต่ยังไงก็ตามก็ยังขาดเนื้อหาข้างในอยู่มาก การจะเพิ่มเนื้อหาอย่างหนึ่งก็คือการ เขียนบล็อก บทความที่เพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์เหล่านี้จะไปช่วยในเรื่องของจำนวนผู้เข้าชม หรือเพิ่มยอดขายให้กับบล็อกอย่างเป็นธรรมชาติ
ในบทความนี้ผมจะมาบอกคุณถึงวิธีตั้งแต่การหาไอเดีย การหาเวลา เขียนบล็อก การวางแผนสร้างเนื้อหา เป็นลำดับ เพื่อเป็นแนวทางให้คุณได้เพิ่มเนื้อหากันอย่างสนุกและมีสาระต่อไป
หาไอเดีย แรงบันดาลใจ เขียนบล็อก
จะเขียนบล็อกอะไรดี ? คำถามนี้มักเกิดกับทุกท่านที่ไม่มีประสบการณ์กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงพอ เราจึงไม่มีความรู้เพื่อจะเขียนอะไรเกี่ยวกับสิ่งนั้น วิธีแก้ไขมีดังนี้ครับ
ทำ Reserch
ดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยากครับ แต่ผมขอแนะนำให้ทำ Reserch ค้นคว้าข้อมูลในหัวข้อที่ท่านไม่ถนัดซักระยะหนึ่ง แล้วค่อยตัดสินใจครับว่าจะ เขียนบล็อก ด้วยเนื้อหาแบบนี้ในระยะยาวได้รึเปล่า
แนะนำ : การหา Niche เหมาะๆเพื่อสร้างเนื้อหาให้กับ Blog
เขียนจากสิ่งใกล้ตัว
ไม่มีอะไรเหมาะสมเท่ากับประสบการณ์ตรงอีกแล้ว แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือเรื่องใกล้ตัว เรื่องของเพื่อน ของแฟน ของญาติพี่น้อง ประสบการณ์จากการอ่าน หรือสิ่งของใกล้ตัวที่มีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์ ก็สามารถนำมาใช้เขียนบล็อกได้เป็นอย่างดี
อ่านบล็อก
ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลอยู่แค่ปลายนิ้ว การอ่านบล็อกกลายเป็นแหล่งแรงบันดาลใจที่มีค่าสำหรับนักเขียน นักเขียนสามารถปลดล็อกขุมทรัพย์ของแนวคิดและข้อมูลเชิงลึกที่สามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะการเขียนได้ด้วยการสำรวจโลกบล็อกอันกว้างใหญ่และหลากหลาย
เขียนวัตถุประสงค์
เขียนวัตถุประสงค์ลงในสมุด.. สิ่งนี้อาจจะเป็นหัวข้อที่บางท่านผ่านเลยไปเพราะได้คิดไว้ในหัวอยู่แล้ว แต่อย่าเพิ่งครับ… เชื่อผมเถอะว่าการจดลงไปในสมุดนั้นมีข้อดีกว่าก็คือ อย่างแรกท่านสามารถย้อนกลับมาดูได้หากลืม ข้อที่สองก็คือท่านสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดที่นึกเพิ่มขึ้นได้ในภายหลังได้อย่างสะดวก
วัตถุประสงค์จะช่วยให้เราจัดการเพิ่มเนื้อหาได้อย่างถูกต้อง
เขียนวัตถุประสงค์ว่าทำไมต้องการเขียนบล็อกเนื้อหาแบบนี้ แล้วเริ่มขั้นตอนต่อไปกันเลยครับ…..
กำหนดเวลาเขียนบล็อกให้ชัดเจน
การเขียนบล็อกอย่างต่อเนื่องนั้นต้องการวินัยที่ดี และวินัยที่ดีนั้นเกิดจากการกำหนดตารางเวลาทำงานให้ชัดเจน
เขียนตารางเวลาการทำงานใส่กระดาษแปะไว้ชัด ๆ ตรงโต๊ะทำงานหรือหัวนอน คงไม่มีใครที่ทำตามเวลาได้เป๊ะ ๆ แต่พอท่านระลึกได้ท่านก็สามารถเหลือบดูตารางที่ทำไว้ งานก็จะเดินไปได้ด้วยดีด้วยวินัยการทำงานที่ถูกต้อง
กำหนดเส้นตาย
การทำงานทุกอย่างนั้นถึงแม้ท่านจะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน อย่างเช่นการเขียนบล็อกก็ตามที ท่านต้องกำหนดเส้นตาย
การที่เขียนไปตามยถากรรม ตามอารมณ์ เสร็จเมื่อไรก็เมื่อนั้น จะทำให้งานที่ควรเสร็จกลับถูกถ่วงออกไป ผมเข้าใจครับว่าบางทีอารมณ์ศิลปินไม่เข้าสิงก็ไม่อยากขยับปากกาเลย แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดครับ blogger มืออาชีพเขาจะไม่รอให้เวลาเหมาะสมครับแต่เขาจะเป็นผู้กำหนดมันขึ้นมาเอง
เขียนบล็อกก่อนทำสิ่งใด
ให้การเขียนบล็อกเป็นสิ่งแรกสุดที่ท่านจะทำในตอนเช้า วางโทรศัพท์ไว้ไกลๆงดดูโทรทัศน์หรือทำสิ่งที่ไม่จำเป็น มองดูที่ตารางทำงานเหมือนหน้านายจ้างที่กำลังจ้องมองถมึงทึง รีบเข้าประจำที่แล้วลงมือเขียนบล็อก
การเขียนในตอนเช้าจะสดชื่นกว่า ทำทุกวันจนท่านรู้สึกไม่ต้องใช้ความพยายามอีกต่อไป
วางแผนเขียนบล็อกแบบ Static
วางโครงเรื่องของบล็อกทันที หลังจากทราบจุดประสงค์แล้ว แตก topics ต่างๆออกเป็นส่วนๆ แล้วคำนวณเนื้อหาทั้งหมดว่าจะเขียนกี่บทภายในระยะเวลาหนึ่งเช่น 10 บทใน 1 เดือน, 30 บทใน 2 เดือน
การกำหนดปริมาณเนื้อหาที่จะเขียนช่วยให้เราแบ่งส่วนต่างๆของเนื้อหาตาม category ได้อย่างสมดุล ไม่หนักไปในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง และจะช่วยให้เราคาดคะเนเวลาทำงานได้อย่างถูกต้องมากขึ้นด้วย
สร้างเนื้อหาเป็นลำดับแรก
การเริ่มเขียนแต่ละวันให้ท่านจับเอา Title มาแตกหัวข้อต่างๆเป็น h1, h2 ให้ครอบคลุมที่สุด และเริ่มต้นเขียนไปทีละหัวข้อ การทำอย่างนี้เพื่อจะทำให้ท่านจดจ่อกับเนื้อหา ที่บางครั้งที่เราจะไปสนใจภาพประกอบ วีดีโอ หรือเรื่อง SEO ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำในภายหลัง อ่าน > เขียนบล็อกให้ลื่นไหล
การใส่ใจกับเนื้อหายังทำให้ท่านไม่ใช้ภาพประกอบที่เกินจำเป็น หรือมุ่งหาโฆษณา affiliate มาแปะจนละเลยงานหลักก็คือการสร้าง Content อย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้
ปล่อยงานทิ้งไว้สักอาทิตย์
นักเขียนที่เขียน first draft เสร็จจะไม่รีบร้อนเผยแพร่ผลงาน บล็อกเกอร์ก็เช่นกันเมื่อกดแป้นพิมพ์คำสุดท้ายบางท่านก็จะรีบเผยแพร่ผลงานทันที ผมไม่ได้บอกว่าผิดนะครับผมเพียงแต่เตือนว่างานที่ท่านคิดว่าสมบูรณ์แล้วนั้นอาจจะยังไม่ดีพอ ขอให้ท่านลองทิ้งงานชิ้นที่เพิ่งเขียนเสร็จเรียกว่า first draft ไว้สัก 1 อาทิตย์ หลังจากนั้นจึงนำกลับมาอ่านเพื่อปรับปรุงและก็เผยแพร่ นี่เป็นสิ่งที่คนเขียนหนังสือเล่มหรือ ebook ใช้เป็นหลักการ และเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเขียนบล็อกได้
จริงอยู่ว่าบล็อกนั้นเป็นสิ่งที่สามารถกลับไปแก้ไขได้มากครั้งเท่าที่ต้องการ แต่จะไม่ดีกว่าหรือถ้าท่านแก้ไขให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องกังวลเมื่อกำลังสนุกกับการเขียนหัวข้อใหม่ ๆ อยู่
Revise พร้อม Optimize
เมื่อผ่านไปสัก 1 อาทิตย์แล้วลองหยิบงานที่พักเอาไว้นั้นขึ้นมาอ่านดูใหม่ ท่านจะแปลกใจที่บางครั้งงานไม่ได้ดีเหมือนที่รู้สึกในตอนแรกหลังจากเสร็จ first draft ใหม่ๆ อ่านทวน, revise, ปรับปรุงจนกว่าจะพอใจ
ในขณะเดียวกันถ้าหากท่านมีความรู้ทางด้าน SEO ก็สามารถแทรก keyword ที่เหมาะสมเข้าไปในขั้นตอนนี้ได้เลย
เผยแพร่อย่างเป็นระบบ
เมื่อบทความเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็ถึงขั้นตอนต่อไปคือการเผยแพร่ผลงาน สำหรับขั้นตอนนี้นั้นท่านสามารถตั้งการโพสบทความแบบอัตโนมัติได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องความเหมาะสม โดยในระยะแรกอาจโพสต์ทุกวันๆละ 1 บทความ พอบล็อกโตขึ้นจนมีบทความ 30-40 ตอน ก็สามารถชะลอให้โพสต์อาทิตย์ละ 2-3 บทความก็เพียงพอ
การโพสต์ถี่เกินไปเช่นวันละ 2-3 ครั้งนั้นมักดูไม่ดีในสายตาของกูเกิล ที่ชอบบล็อกที่โตแบบธรรมชาติมากกว่า
สรุป
การเขียนบล็อกนั้นแทบไม่ต่างจากการเขียนแบบอื่น ๆ เพียงแต่การเขียนบล็อกนั้นมีลักษณะเป็น dynamic คือควรมีการอัพเดทบทความใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ
การที่บล็อกจะเติบโตได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยที่เกื้อหนุนกันระหว่างคนเขียนที่ต้องวางแผน มีวินัยในการทำงานอย่างเป็นระบบ กับคนอ่านบล็อกที่จะได้ประโยชน์จากงานเขียนที่มีคุณภาพ และพร้อมจะสนับสนุนหรือแชร์ให้บล็อกได้เป็นที่รู้จักและเติบโตต่อเนื่องไป