How to Overcome Writer's Block

คิดไม่ออก เขียนไม่ออกทำไงดี: ทำลายกำแพง Writer’s Block

ในการทำงานทุกแขนงโดยเฉพาะงานที่ต้องใช้การสร้างสรรค์โดยเฉพาะงานเขียนเป็นสิ่งที่คุณหรือผมก็พอจะนึกภาพออกว่า  ในวันที่ใจปลอดโปร่งก็จะเขียนได้อย่างนำไหลไฟดับมิรู้เบื่อ  แต่ทว่าเมื่อฟ้าปิดทุกอย่างก็จะดูคลุมเครือไปหมด จะคิด จะเขียนอะไรดูมันติดขัดไปซะหมด  นั่นคือสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Writing’s Block

อาการคิดไม่ออกหรือเขียนไม่ออกนี้บางทีก็หาสาเหตุไม่ค่อยจะได้  จะโทษดินฟ้าอากาศหรือก็ใช่เรื่อง  เอาเป็นว่าวันนี้เราจะมาหาวิธีแก้หรือช่วยผ่อนคลายอาการเหล่านี้กัน  อาการแบบนี้บางทีก็เป็นแค่วันสองวันครับ  แต่ถ้าเป็นต่อเนื่องทั้งอาทิตย์หรือเป็นเดือนก็เห็นต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน

งั้นเราไปดูกันเลยซิครับว่าวิธีแก้อาการเขียนไม่ออกมีอะไรบ้าง



เขียนเพื่อตัวคุณ

คุณกำลังเขียนเพื่อใครอยู่รึเปล่า  ถ้าคุณกำลังมองหากลุ่มคนที่กำลังติดตามอ่านงานของคุณ แน่ล่ะย่อมมีหลักพันคนบางทีเป็นหมื่นหรือแสนคน  เมื่อเป้าหมายของคุณมีหลากหลายย่อมทำให้คุณสูญเสียความเฉียบคม  เหมือนคุณกำลังยิงธนูไปทุกเป้าย่อมเปลืองลูกและเปลืองแรง 

คุณต้องเขียนเพื่อตัวคุณเอง  ถึงแม้วิธีทางการตลาดจะให้คุณมองหากลุ่มลูกค้าหรือนิช  แต่ในการทำงานคุณต้องเขียนให้ตัวเองอ่านสนุกเป็นลำดับแรก

วิธีนี้จะนำความเชื่อในคุณค่าของตัวเองกลับมา  และส่วนตัวผมไม่เชื่อว่างานที่คุณเขียนแบบเอาใจตลาด ถึงแม้ยอดขายจะดีก็ไม่อาจทำให้คุณรู้สึกอิ่มใจได้   ถ้าคุณอ่านงานอย่างมีความสุขได้ผู้อ่านก็รับรู้ได้เช่นกัน

  

ลองเขียนในเวลาต่างกัน

ตามปกติตัวผมหรือคนที่ผมรู้จักก็จะทำงานเป็นเวลา  ถึงจะไม่เหมือนกันแต่ก็เป็นแพทเทิร์นเดิมคล้าย ๆ กันทุกวัน  คุณผู้อ่านก็คงมีเวลาทำงานที่ออกแบบสำหรับตัวเอง  ถ้าหากท่านทำงานอิสระก็จะสามารถกำหนดเวลาต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ

ผมนั้นชอบเริ่มงานตอนเช้าและจะทำได้ปริมาณมาก หลังจากบ่ายแล้วพลังงานความห้าวก็ค่อย ๆ ลดลง  

หากคุณมีปัญหาความคิดตีบตันอาจเป็นไปได้ว่าเกิดความจำเจ  ลองสลับเวลากับกิจกรรมอย่างอื่น หากช่วงบ่ายเป็นเวลาที่คุณทำการตลาด Social หรือ Email Marketing  ลองย้ายงานเขียนไปทำเวลานั้นดูบ้าง  บางทีคุณอาจได้บรรยากาศใหม่ ๆ ที่สำคัญเมื่อช่วงเวลาเปลี่ยน การปรับตัวจะช่วยให้คุณมีความกระตือรือร้นมากขึ้น


ลองมองในมุมขบขัน

ลองเริ่มต้นวันด้วยการวอร์มอัพที่ตลกขบขัน: เริ่มต้นเซสชันการเขียนของคุณด้วยแบบฝึกหัดการวอร์มอัพที่เน้นเรื่องอารมณ์ขัน เขียนโคลงสั้นตลก หนึ่งบรรทัดที่มีไหวพริบ หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตลกขบขันที่ไม่เกี่ยวกับหัวข้อหลักของคุณ สิ่งนี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อความคิดสร้างสรรค์และทำให้จิตใจของคุณพร้อมสำหรับประสบการณ์การเขียนที่เบาบางลง

เพิ่มพลังแห่งเสียงหัวเราะ ใส่อารมณ์ขันลงในหัวข้อของคุณ มองหาโอกาสที่จะใส่อารมณ์ขันลงในหัวข้อหรือเรื่องของคุณโดยตรง ค้นหาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าขบขัน ตัวอย่างตลก หรือมุมที่คาดไม่ถึงที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนของคุณ สิ่งนี้สามารถช่วยให้คุณเห็นหัวข้อของคุณจากมุมมองใหม่และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์


เริ่มเขียนจากอะไรก็ได้

ที่จริงวิธีนี้ผมใช้บ่อยเวลาที่อะไรมันตีบตัน  คือเขียนอะไรก็ได้ไปก่อน แล้วพอเครื่องติดแล้วค่อยมาปรับปรุงในภายหลัง  เขียนอะไรเล่น ๆ ไปก่อนพอให้ความคิดจุดติด

หรือคุณจะใช้การเริ่มจากส่วนบรรยายรายละเอียด ลืมช่วงอินโทรไปก่อนเพราะบางทีการคิดว่าจะเขียนอินโทรยังไงให้ออกมาดีมักขัดขวางความคิดไม่ให้ลื่นไหล

ท่านผู้อ่านที่เขียนไดอารี่เป็นประจำอาจมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มาก  ไดอารี่เป็นกิจกรรมเสริมที่ดีมากหากท่านพอจะมีเวลาสักวันละชั่วโมง 

20 หนังสือน่าอ่านสำหรับเด็ก สนุกจนไม่อยากเล่นมือถือ


ขยายไอเดีย

การคิดไม่ออกสาเหตุหนึ่งเกิดจากคุณยังไม่ได้คิด  หากคุณเริ่มคิดแล้วความต่อเนื่องก็จะตามมา  วิธีขยายไอเดียเป็นวิธีหลัก ๆ ของผมเมื่อยามตีบตัน

หากคุณเริ่มที่หัวข้อ “แบบบ้าน” ให้คุณขยายหัวข้อย่อยออกมา โดยใช้วิธีขยายไอเดียแบบแนวตั้งและแนวนอน (จากหนังสือ “วรรคแรกถึงวรรคสุดท้าย”)  แนวตั้งก็คือให้คุณลิสต์หัวข้อย่อยออกมาเท่าที่ต้องการ อย่างเช่น 

  • แบบบ้านในเมือง
  • แบบบ้านทรงไทย
  • แบบบ้านราคาประหยัด
  • แบบบ้านในสวน
  • แบบบ้านทรงสแกนดิเนเวียน

นี่เป็นการขยายไอเดียแบบแนวตั้งหรือแบบลิสต์  ส่วนการขยายไอเดียแบบแนวนอนก็คือ  การบรรยายหัวข้อเหล่านั้นออกมาอย่างเข้าใจพอสังเขปอย่างเช่น

  • แบบบ้านในเมือง – ยุคเศรษฐกิจแบบนี้สไตล์มินิมอลกำลังมาแรง  ใช้พื้นที่น้อย ๆ แต่ประโยชน์ใช้สอยครบทุกตารางนิ้ว สำหรับบ้านแบบนี้
  • แบบบ้านราคาประหยัด – เป็นแบบบ้านที่ใช้งบประมาณระหว่าง 100,000 – 500,000 บาทในการก่อสร้าง  สามารถประยุกต์สร้างได้ในหลาย ๆ โลเกชั่น  
  • แบบบ้านในสวน – บ้านที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายแบบธรรมชาติ ด้วยโลเกชั่นที่ดี แบบบ้านก็เลยต้องให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก


หาจังหวะในการเขียนใหม่

จังหวะในการเขียนเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความลื่นไหลในการทำงาน  บางท่านเขียนหนึ่งชั่วโมงแล้วพักบางท่านเขียนทีเดียวสองชั่วโมงรวด  

ผมนั้นถนัดคิดเป็นปริมาณเช่นเขียนได้ 5 หน้า 7 หน้าแล้วพักเบรค  ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญอยู่ที่ความต่อเนื่องของงานด้วย  หลังจากกลับมาจากพักเบรคคุณอาจจะพบว่าสมองว่างเปล่า  เป็นไปได้ที่บางทีไฟมอดไม่อยากเขียนขึ้นมาเฉย ๆ 

ผมมักจะใช้วิธีพักในขณะที่กำลังอยากจะเขียนอยู่ สมมุติว่าเป็นกราฟที่กำลังขึ้นผมจะเบรคตัวเองที่กึ่งกลางยอดสูงสุดทันที  ถึงแม้ว่าความคิดกำลังพรั่งพรูอยากเขียนต่อใจแทบขาด  ผมต้องฝืนวางอุปกรณ์การเขียนรีบไปชงกาแฟทันที

นี่เป็นวิธีที่ผมจะสามารถรักษาไฟในการทำงานไม่ให้มอดลงไปได้  สมมุติถ้าจบเบรคด้วยการจบบทใดบทหนึ่ง นั่นหมายความว่าเมื่อผมกลับมาที่โต๊ะทำงานผมจะต้องรวบรวมสมาธิอย่างหนัก  คุณคิดเหมือนผมรึเปล่าครับว่าการกลับมาเขียนงานที่ค้างอยู่นั้นง่ายกว่าการเริ่มต้นตอนใหม่เป็นไหน ๆ  และวิธีการนี้เองจะทำให้ความคิดของคุณลื่นไหลไปได้

หยุดวางแผนการเขียน

คุณมีแผนในโครงงานเขียนบล็อกหรือหนังสืออยู่รึเปล่าครับ  การวางแผนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของใครหลาย ๆ คนรวมถึงตัวผม  แผนการที่ดีถ้ามีเป้าหมายที่สมเหตุสมผลและรักษาวินัยในการปฏิบัติย่อมได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ  แต่เมื่อคุณมืดแปดด้านคิดอะไรไม่ออก  แผนดีแค่ไหนก็ไม่มีผล

ผมเคยเขียนไว้ในโพสต์หนึ่งถึงเรื่องการวางแผนสำหรับการทำงาน  Roadmap ใด ๆ ที่คุณสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันนั้นเป็นเรื่องดีในเหตุการณ์ปกติ  แต่เมื่อถึงคราวที่คุณตื้อสมองตันการพัก Roadmap นั้นชั่วคราวเป็นเรื่องดี  การเขียนไม่ออกบางทีเกิดจากภาวะที่คุณคาดหวังตัวเองมากเกินไปจาก Roadmap ที่คุณสร้างขึ้น

วางแผนงานของคุณลงชั่วคราว  หันกลับมาใช้ขั้นตอนง่าย ๆ เช่น เขียนให้น้อยลงสักครึ่ง ทำอะไรให้ช้าลงบ้าง  ทำแบบนี้ต่อเนื่องกันไปจนกว่าความกระปรี้กระเปร่าจะกลับมาสู่เซลล์สมองของคุณ

รู้จักเครื่องมือใหม่ ๆ 

ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทำให้เกิดเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย  และโดยการพยายามเรียนรู้และลองใช้เครื่องมือเหล่านี้ย่อมก็ให้เกิดภูมิปัญา เกิดทักษะใหม่ ๆ ขึ้นมา 

ผมเป็นคนนึงล่ะครับที่ค่อนข้างหลงใหลในเทคโนโลยี  ก็มันสนุกน่าตื่นเต้นดีใช่ไหมล่ะครับ  เวลาว่าง ๆ ผมมักทดสอบแอปพลิเคชันใหม่ ๆ อยู่เสมอรวมถึงแอพที่เกี่ยวกับการเขียน

ข้อดีของแอปพลิเคชันสมัยใหม่เหล่านี้คือบางอย่างก็ช่วยย่นระยะเวลาเราได้เยอะ  และถ้าหากว่าคุณคิดอะไรไม่ออกก็ลองศึกษาการใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ดู ซึ่งที่ผมเคยทดลองใช้มีดังนี้

  1. Reedsy Book Editor
  2. Draft
  3. LibreOffice

ส่วนข้อเสียของการลองใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ก็คือ คุณอาจเพลินกับรูปลักาณ์ที่สวยงามทันสมัยทันสมัยจนลืมการลืมงานกันเลยทีเดียว

มาเริ่มงานกันเถอะ

เป็นปกติธรรมดาที่เหตุการ Writer’s Block จะเกิดกับนักเขียนบ่อย ๆ สิ่งที่ผมนำมาเสนอในบทนี้ก็หวังว่าจะช่วยให้ความคิดของท่านกลับสู่ภาวะลื่นไหลเหมือนเคย  ที่จริงยังมีอีกหลายวิธีซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะนำมาลงเป็นอีกตอนหนึ่ง  ขอบคุณที่ติดตามอ่าน  ไว้พบกันโพสต์หน้าจะมีอะไรดี ๆ คอยติดตามกันครับ  

ว่าแล้วก็มาเริ่มเขียนงานกันต่อเลยดีกว่าครับ ถ้าความคิดเริ่มจุดติดแล้วแล้วก็ลุยกันเลย.. Let ‘s go!

Photo by Ariel on Unsplash

Leave a Comment