คุณทำ SEO แบบลูกทุ่งหรือลูกกรุง (คุยกันภาษาบ้าน ๆ )
โดยปกติผมอยากให้การพูดคุยบางที่เป็นเรื่องง่าย ๆ บ้างอย่างในหัวข้อเหล่านี้เช่น SEO, SEM, Keyword Reserch พวกนี้ซึ่งบางครั้งการใช้คำเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของสถานการณ์ หรือกาลเทศะ ผมจึงอยากจะใช้คำพูดง่าย ๆ บ้างเพื่อให้พี่ ๆ น้อง ๆ ผู้ฟังซึ่งบางท่านอาจเป็นมือใหม่ที่อยากหาอ่านอะไรที่ย่อยง่าย สำหรับในหัวข้อนี้คล้ายกับบรรยากาศของเพลง เพราะผมอยากให้มีท่วงทำนองเคล้าไปในระหว่างที่พูดคุยกันไปครับ(ขอบรรยากาศนิดนึง)
ในบทนี้ที่ชื่อว่า “คุณทำ SEO แบบลูกทุ่งหรือลูกกรุง” ผมถามเพื่ออยากรู้แนวทางการทำงานของท่าน ไม่ต้องการที่จะตัดสินว่าถูกผิดอะไร การทำงานแบบลูกทุ่งและลูกกรุงของผมเองเกิดจากมุมมองด้าน SEO ในแง่หนึ่งเท่านั้น และผมก็กำลังจะเล่าให้ท่านฟังในย่อหน้าถัดไป เตรียมคำตอบของท่านไว้ จะตอบใต้คอมเมนต์หรือจะอีเมลมาก็ไม่ว่ากัน ถ้าพร้อมแล้วไปต่อกันเลยดีกว่าครับ
SEO แบบลูกทุ่ง
SEO แบบลูกทุ่งเป็นนิยามของผมเองถึงลักษณะการทำ SEO แบบหนึ่ง แบบที่ไม่อิงตำราเป๊ะ ๆ เพราะใช้วิสัยทัศน์ส่วนตัวร่วมด้วย คุณคงเคยสร้างคอนเทนต์กันมามากมาย แบบที่มี keyword เป้าหมายหรือผสมคีย์เวิร์ดไว้หลาย ๆ ตัว มีการวางแผนโครงสร้างจำนวนเท่าไร กำหนดวันเผยแพร่อย่างเป็นระบบ แต่ SEO แบบลูกทุ่งที่ผมใช้บางครั้งมักจะไม่อิงตำรามากนัก เพราะอะไรรู้ไหมครับ… ก็เพราะผมต้องการหาไอเดียเรื่องหรือคำใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับเนื้องาน
SEO แบบลูกทุ่งเป็นการทดสอบอย่างหนึ่ง คุณลองคิดดูว่ากฎเกณฑ์ของกูเกิลสำหรับให้คะแนนเนื้อหาในหน้าหนึ่งนั่นปรับเปลี่ยนเดือนละกี่ครั้ง บ่อยแค่ไหน? ผมเชื่อในกฎเกณฑ์ของ SEO ทั่วไปครับ แต่ปัญหาก็คือนับวันผมจะยิ่งเจอบทความที่น่าเบื่อเพิ่มขึ้น ๆ นี่คือสิ่งที่ใน SEO เรียกว่า Readability คือความลื่นไหลในภาษา
ผมพยายามสร้างและแนะนำให้เพื่อนร่วมงานหลาย ๆ ท่านพยายามเขียนบทความให้น่าอ่านที่สุดก่อนในแบบลูกทุ่ง และค่อยมาขัดเกลาในแบบลูกกรุง แบบลูกกรุงเป็นยังไงครับ ตามผมมาในย่อหน้าถัดไปเลยครับ
SEO แบบลูกกรุง
SEO แบบลูกกรุงโดยนัยของผมก็หมายถึงแบบที่คำนึงถึงรูปแบบตามตำราแบบตายตัว เช่นต้องมีคีย์เวิร์ดหลักตามส่วนต่าง ๆ อาทิ ตรงส่วนไตเติ้ลแท็ก เมตาแท็ก ในส่วน H2 และคีย์เวิร์ดรองผสมผสานไปในส่วนต่าง ๆ ตามที่ท่านอยากให้คำไหนขึ้นอันดับบนกูเกิล หรือกระทั่งการสร้าง backlink แต่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตสักนิดครับว่าสิ่งที่กูเกิลปรารถนาคืออะไร กูเกิลต้องการหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับผู้ค้นหา และประเด็นก็คือการทำ SEO แบบลูกกรุงตามแบบแผนนั้นครอบคลุมแค่ไหน ผมหมายถึงในระยะยาว 2-3 หรือ 5 ปี ที่คุณจะต้องมาทำอันดับใหม่ทุกครั้งเมื่อกูเกิลปรับอัลกอริทึมใหม่ทุกครั้งใช่หรือไม่
สำหรับภาษาไทยนั้นกูเกิลยังไม่รองรับเท่าที่ควรในเรื่อง SEO และภาษาไทยก็ต่างกับภาษาอังกฤษอยู่มาก นี่ยังไม่รวมในเรื่องพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ที่ย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นผมจึงอยากแนะนำให้ท่านใช้การทำ SEO แบบผสมผสานลูกทุ่งผสมลูกกรุง แล้วใช้การทดสอบตลาดสำหรับรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ
อย่าหวังพึ่ง Plug-in อย่างเดียว
แน่นอนครับว่าผมก็ใช้ปลั๊กอิน SEO อย่าง Yoast หรือ All in one SEO เช่นกันผมไม่ได้กำลังจะมาบอกให้เลิกใช้ปลั๊กอินตัวช่วยดี ๆ เหล่านี้ แต่ผมกำลังจะมาให้ข้อสังเกตว่าปลั๊กอินเหล่านี้ควรจะใช้เพื่อเป็นกรอบหรือแนวทางเท่านั้น อย่างไรก็ดีเนื้อหาที่ดีของบทความต่างหากที่ต้องมาก่อน
ปลั๊กอินต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี แต่บทความที่ดีสามารถอยู่ได้ยาวนานหลายปี ความลื่นไหลหรือยอดเยี่ยมของตัวคอนเทนต์ย่อมสร้างค่า Conversion ที่สูงขึ้น ท่านลองไปอ่านบทความในบล็อกอย่าง Neilpatel.com หรือ Moz.com ก็จะได้รู้ว่าพวกเขาสร้าง Content ออกมาได้ยอดเยี่ยมเพียงไร
คุณเลือกแบบไหน
การทำ SEO แบบลูกทุ่งที่ไม่อิงตำรามากนักมักทำให้ผมแปลกใจเสมอ กับหลักการที่บางทีก็ขัดแย้งกับตำราฝรั่ง ซึ่งทำให้แวดวงการทำ SEO ในเมืองไทยยังคลุมเครืออยู่พอสมควร
ก็อย่างที่ผมบอกครับ การทำแบบผสมผสานลูกทุ่งผสมลูกกรุงย่อมยืดหยุ่นกว่า อันนี้ก็แล้วแต่สไตล์ใครสไตล์มันนะครับ ถ้าท่านไม่มั่นใจก็ให้ทำแบบดั้งเดิมคือลูกกรุงเป็นไปตามระเบียบแบบแผน ติดตั้งปลั๊กอินเข้ามาช่วย แต่ถ้าหากท่านมีแนวคิดก้าวหน้าและอยากจะทดสอบคีย์เวิร์ดใหม่ ๆ แบบผสมผสานย่อมเหมาะกับภารกิจนี้อย่างยิ่งครับ
ภาพโดย RENE RAUSCHENBERGER จาก Pixabay