หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆเหล่านี้ หากคุณอยากให้คนเข้าบล็อกเพิ่มขึ้น

เมื่อเขียนโพสต์สำหรับบล็อกไปได้สักระยะ คุณอาจจะเพลิดเพลินกับเรื่องราวต่างๆที่คุณนำเสนอ  สนุกกับการใส่รูปภาพสวย ๆ  จนพอมาตรวจดูอีกทีใน Google Analytic กลับพบแนวโน้มต่างๆที่ลดลง เช่น Unique Visitors จำนวน Clicks หรือค่า Impressions

ไม่ต้องตกใจครับหากเกิดแนวโน้มแบบนี้ทซึ่งถ้าหากไม่ใช่ที่ตัวกูเกิลเองที่มีการปรับอัลกอริทึมเป็นระยะ ๆ  หรือไม่ใช่เพราะตัวคุณขาดการอัพเดทโพสต์ใหม่ ๆ ลงบล็อก

หัวข้อด้านล่างที่ผมกำลังจะพูดถึงนั้นเกี่ยวในทางตรงและอ้อมกับเรื่องที่ผู้เยี่ยมชมหรือคนคลิกลิงก์ลดลง  ลองสำรวจกันดูนะครับว่าคุณขาดข้อไหนกันไปบ้าง  จะได้มาเติมเต็มให้กราฟได้ขยับหัวขึ้นสักที

บล็อกโหลดช้า

ปัญหาบล็อกโหลดช้ามีหลายปัจจัย  แต่ถ้าหากคุณใช้ wordpress สร้างเว็บหรือบล็อกปัญหาเหล่านี้ก็จะลดลงไปได้มาก  

พยายามจัดขนาดของรูปอย่าให้ใหญ่จนเกินไปโดยใช้ไฟล์นามสกุล .PNG หรือ .JPEG ซึ่งมีขนาดเล็ก  ลบรูปที่ไม่ได้ใช้งานออกจากแกลเลอรี่  โดยเฉพาะสไลเดอร์ซึ่งอาจหน่วงให้ช้าได้อีกหากใส่ภาพมากเกินไป

ไฟล์ temp  jquery  หรือ script java ต่างๆยังส่งผลถึงความเร็วในการโหลดเว็บอีกด้วย  โดยท่านสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ด้วยความสามารถด้านเขียนโปรแกรม  แต่หากท่านไม่ถนัดก็อาจใช้ปลั๊กอินที่ช่วยในการลดขนาดรูปภาพและจัดการจัดระเบียบเรื่องสคริปต์ต่าง ๆ


Title ไม่ดึงดูด

เมื่อคุณเขียนบทความ ไตเติ้ลหรือ Headline เป็นสิ่งแรกที่ผู้คนจะพบเห็น  และเจ้าไตเติ้ลนี่ล่ะก็จะเป็นตัววัดว่าจะมีซักกี่คนที่คลิกเข้ามาอ่านบทความของคุณ

ไตเติ้ลนั้นนอกจากจะเป็นสิ่งเรียกความสนใจแล้ว  ยังเป็นประโยคที่ทำให้ผู้อ่านคาดเดาเนื้อหาทั้งหมดได้อย่างคร่าว ๆ  ผู้ค้นหาจะคลิกไปอ่าน content อื่นทันทีถึงแม้ท่านจะมีลำดับที่สูงกว่าบนหน้ากูเกิล  แต่มีไตเติ้ลที่ไม่น่าสนใจหรืออ่านจับใจความไม่ได้

การเขียนไตเติ้ลให้ดึงดูดถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ก็พอจะมีวิธีการอยู่บ้างครับ

คือให้คุณใช้คีย์เวิร์ดที่ต้องการทำอันดับพิมพ์ลงไปในช่องกูเกิลเสิร์ช  เมื่อกูเกิลแสดงผลการค้นหาออกมาคุณก็ดูได้เลยครับว่าเว็บลำดับต้น ๆ เขาเขียนไตเติ้ลว่าอย่างไร  ไม่ได้ไปลอกเขานะครับ เอามาเป็นแนวทางผสมผสานเติมแต่งให้เป็นแบบของเรา  

ข้อดีของวิธีนี้ก็คือท่านสามารถทราบ search intent ของผู้ค้นหา และยังทราบถึงข้อบกพร่องของไตเติ้ลของบทความคู่แข่งอีกด้วย


ไม่มีพลังในตัวหนังสือ

พลังเป็นสิ่งที่ทุกการสร้างสรรค์จำเป็นต้องมี  การเขียนบทความก็เช่นเดียวกัน  ที่นอกจากต้องอาศัยประสบการณ์ ข้อมูลที่ถูกต้อง ตัวอักษรที่ลื่นไหล  อีกอย่างที่จำเป็นก็คือพลังในตัวหนังสือหรือทุกอักษรที่จะขาดไปไม่ได้

บางท่านอาจจะขำหาว่าผมดูหนังการ์ตูนมากไปแต่เปล่าเลย….  

ไม่ทุกวันหรอกครับที่ผมจะมีพลังตื่นขึ้นมาเขียนโพสต์ แต่ทุกวันผมจะต้องสร้างพลังเพื่อเดินหน้าต่อให้ได้  อย่างโพสต์นี้ก็เช่นกันที่ผมเขียนไม่ออกในทีแรกเพราะขาดพลัง  การขาดพลังเกิดจากคุณมีวัตถุดิบไม่พอ  ขี้เกียจทำ research  มักง่าย  อะไรต่างๆเหล่านี้ทำให้พลังในตัวอักษรของคุณจางหายไป

ถ้าหากคุณอ่านทบทวนสิ่งที่คุณเขียนแล้วพบว่าอ่อนแรงเต็มที มีแต่น้ำ ก็ให้วางปากกาแล้วลงมือทำรีเสิร์ชอีกรอบครับ  ทำจนกว่าพลังความอยากเขียนจะล้นออกมา


ขาด Niche

ขาดอะไรก็ได้แต่หากขาดสิ่งที่เรียกว่า Niche ความสับสนอลหม่านก็จะมาเยือนเว็บไซท์คุณ….

Niche ก็คือตลาดเฉพาะ

เป็นสิ่งที่คุณต้องคิดก่อนการสร้างบล็อกแล้วว่าสินค้าหรือบริการของคุณคล้องจองกับลูกค้ากลุ่มไหน  Niche เปรียบเสมือนหางเสือเรือที่ผมเปรียบเทียบว่าถ้าไม่มีเว็บคุณจะไร้ทิศทาง

หากคุณมี Niche อยู่แล้วผมก็ขอแสดงความยินดีด้วย  แต่หากคุณไม่มีก็ให้ลองมองช่องว่างของตลาดเช่น  หากคุณมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  คุณก็สามารถสร้างบล็อกสอนคอมพิวเตอร์สำหรับผู้สูงอายุ   หรือถ้าคุณถนัดซ้ายและเล่นกีตาร์เป็นก็สามารถสร้างบล็อกสอนคนเล่นกีตาร์และขายกีตาร์สำหรับเฉพาะคนถนัดซ้าย


ไม่มีบทความหลัก (cornerstone content)

บล็อกที่สร้างแบบหวังผลถึงแม้จะมีบทความมากมายแต่สิ่งจำเป็นอีกอย่างที่จำเป็นจะต้องมีก็คือบทความหลัก (Cornerstone Content) หรือใครจะเรียกว่าบทความพระเอกหรือบทความเสาหลักอะไรก็แล้วแต่ ยังไงผมขอเรียกบทความหลักก็แล้วกันนะครับ…..

บทความหลักคืออะไร ?

หากคุณเพิ่งเริ่มสร้างบล็อกแล้วล่ะก็นอกจากเรื่อง Niche ที่จำเป็นต้องดูให้ดู  ก็เรื่องบทความหลักนี่ล่ะครับที่เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน  

บทความหลักสร้างเพื่อรองรับ Mass Keywords  หากคุณทำการค้นคว้ามากพอก็จะแยกคีย์เวิร์ดเพื่อทำ SEO ได้อย่างถูกต้อง  ตัวอย่างเช่นหากคุณสร้างเว็บไซท์เกี่ยวกับหนังสือ  บทความหลักของคุณต้องมีคีย์เวิร์ดเช่น  หนังสือเรียน  หนังสือ how-to  หนังสือนิยาย

บทความหลักของคุณต้องมีคีย์เวิร์ดเหล่านี้สิงสถิตย์อยู่  หลังจากนั้นคุณก็สร้างบทความทั่วไปขึ้นมารองรับ Longtail Keywords ต่างๆเช่น หนังสือเรียนเด็กอนุบาล  หนังสือเรียนเด็กม.5   หนังสือนิยายรหัสคดี  หนังสือนิยายวิทยาศาสตร์  หนังสือวรรณกรรมเยาวชน  ต่าง ๆ เหล่านี้

ทำไมถึงต้องมีบทความหลัก ?

ก็อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วครับว่าบทความหลักนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับ Mass Keywords หรือคำทั่วไปที่คนนิยมค้นหากัน  ประโยชน์อีกอย่างของบทความหลักหรือ Cornerstone Contents ก็คือมันทำหน้าที่เป็น Hub ของเพจทั่วไปที่ชี้ให้กูเกิ้ลเห็นถึงความเป็นมืออาชีพของเว็บไซท์ในภาพรวม


ไม่มี Longtail Keywords

ในหนังสือ ‘Site Structure สร้างบล็อกให้มีทรงตรงหลัก SEO อย่างมืออาชีพ’ นั้นผมก็ได้กล่าวถึง Longtail Keywords และการใช้งานไว้พอสมควร  ซึ่งในบทนี้ผมจะกล่าวเป็นสังเขปให้ท่านผู้อ่านพอเข้าใจครับ

Longtail Keywords นั้นเป็นคำหรือกลุ่มคำที่ได้จากการใช้เครื่องมือค้นหาอย่าง Google Keyword Planner, KWfinder, Ahref ต่างๆเหล่านี้เพื่อนำมาสร้าง Content  

Longtail Keywords นั้นมีจำนวนผู้ค้นหาน้อยเพราะเป็นคำที่ยาวหรือเฉพาะเจาะจง  จึงเหมาะที่จะนำมาสร้างคอนเทนท์เนื่องจากมีคู่แข่งไม่มาก  จึงสามารถทำอันดับได้ง่ายบนกูเกิ้ลเสิร์ช

การใช้ Longtail Keywords จะช่วยให้บทความของท่านมี Ranking สูงอยู่ได้นานกว่าบทความที่ไม่มีคีย์เวิร์ดใด ๆ  ซึ่งเมื่อท่านมี internal link กลับไปยังขบทความหลักด้วยแล้ว  ก็จะยิ่งเป็นที่ถูกใจของกูเกิ้ล

หากท่านไม่เคยวางแผนคีย์เวิร์ดใช้ Longtail Keywords กับบทความใด ๆ มาก่อนหน้า  ก็ไม่เป็นไรครับ  ให้ท่านอัพเดทจากบทความเดิมนั่นล่ะครับ  เปลี่ยน

Heading ,Sub Heading  แทรกคีย์เวิร์ลงไปในเนื้อหา  และลองดูความเปลี่ยนแปลงกับ traffic ที่เพิ่มขึ้นครับ


ขาดการวางแผนที่ดี

บางทีการที่ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมบล็อกของคุณลดลงไม่ได้เกิดจากขาดการวางแผน แต่เกิดจากการวางแผนที่ไม่ดีต่างหากครับ..

เมื่อไรก็ตามที่โครงสร้างเว็บไซท์ของคุณบิดเบี้ยวเนื่องจากไม่ได้วางแผนให้ดีแต่แรกเช่น  หา Niche  ทำ Keyword Reserch  วางเป้าหมาย  แล้วล่ะก็ไป ๆ มาคุณก็จะเพิ่ม Content ด้วยการสุ่มเอาเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องแล้วยัดลงไปใน Category ทั่วไป ซึ่งแรก ๆ ที่เริ่มทำบล็อกผมก็เป็นครับ

การวางแผนที่ดีนั้นไม่ได้ต้องการผลลัพธ์ 100 % แต่แผนงานที่ดีต้องเป็นแนวทางให้เราพัฒนาผลงานได้อย่างต่อเนื่องครับ  คุณอาจจะวางแผนเขียนบทความ 10 บทในหนึ่งอาทิตย์แต่ทำได้ 5 บทก็ไม่ได้หมายความว่าล้มเหลวนะครับ(ได้ 5 คะแนนเต็มสิบถือว่าสอบผ่าน อิอิ)

การวางแผน ดำเนินงาน แล้วกลับมาตรวจสอบเป็นขั้นตอนที่จะเพิ่มศักยภาพให้กับคุณ  บทความที่มีคุณภาพต้องมาจาก การทำ Reserch  หา Niche  วางแผน  กำหนดเป้าหมาย อย่างสอดคล้องกันทุกขั้นตอน 

หากบทความของคุณไม่ได้เกี่ยวกับนิชของบล็อกบ่อย ๆ คุณจะคาดหวังไม่ให้ผู้เยี่ยมชมแวะไปบล็อกอื่นได้อย่างไรครับ


อ่านเพิ่ม > Internal Links กับความสำคัญต่อการทำอันดับบนกูเกิ้ล


ขาดความสม่ำเสมอต่อเนื่อง

เคยไหมครับที่คุณสร้าง post แล้วก็หายไปทำอย่างอื่น แล้วอีกสามอาทิตย์ก็กลับมาโพสต์ใหม่ ทำอย่างอื่น ..แล้วอีกสองเดือนก็แวะมาโพสต์อีกครั้ง  

ผมกำลังพูดถึงความต่อเนื่องหรือสม่ำเสมอในการทำงาน คุณเข้าใจถูกแล้วครับ   

ความสม่ำเสมอจะเหมือนแรงเหวี่ยงที่เมื่อต่อเนื่องนาน ๆ เข้าจะกลายเป็นพลังที่เข้มแข็ง  ความต่อเนื่องจะช่วยให้ไอเดียคุณมีชีวิตชีวา  เมื่อคุณสร้างงานอย่างมีพลังมีชีวิตชีวาใครจะไม่อยากอ่านผลงานเหล่านั้นล่ะครับ

ต่อให้คุณไม่ได้วางแผนมี Niche หรือ Keyword ใด ๆ  แต่ถ้าคุณทำงานด้วยพลังเกินร้อย  ผลงานที่ออกมาย่อมน่าประทับใจอย่างแน่นอนครับ

ใช้ความสม่ำเสมอต่อเนื่องขับเคลื่อนงานอย่างมีพลัง   แล้วเมื่อนั้นสิ่งที่คุณทำจะกลายเป็นที่ชื่นชอบทั้งผู้อ่านและโรบอทของกูเกิลครับ


ทั้งหมดทั้งปวง…

เมื่อจำนวน traffic หรือจำนวนผู้เยี่ยมชมบล็อกลดลงสิ่งแรกที่ต้องทำก็คืออย่าเพิ่งตกใจครับ ตั้งสติดี ๆ แล้วลองดูหัวข้อที่ผมได้นำเสนอคุณไป  

การขับเคลื่อนบล็อกต้องอาศัยในหลายมิติทั้งในแง่ของเทคนิคเช่นในเรื่อง Niche, Longtail Keywords, บทความหลัก  ในแง่ของแผนงานก็เช่นเรื่อง การวางแผนที่ดี ความสม่ำเสมอ   หรือในแง่ของการสื่อสารก็เช่นเรื่อง Title ไม่ดึงดูด ไม่มีพลังในตัวหนังสือ  ซึ่งทั้งหมดต้องทำไปพร้อม ๆ กันจะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปมิได้

วิธีการเหล่านี้นอกจากช่วยเพิ่ม traffic แล้วยังอาจเพิ่มผู้ติดตามหรือลูกค้า (Lead)

การลดลงของผู้เยี่ยมชมจะไม่เป็นปัญหาเมื่อคุณเข้าใจวงจรธุรกิจ มีเป้าหมายสร้าง Content เพื่อ Niche อย่างถูกต้อง  ที่สำคัญคือการหาความรู้ขยันปรับปรุงคุณภาพบล็อกอยู่เสมอ  แล้วทำไมถ้าคุณทำทุกอย่างครบแล้วจะหวังให้กราฟผู้เยี่ยมชมพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ล่ะครับ ??

Ebooks เพื่อนักสร้างบล็อกมืออาชีพ >> สนใจคลิ๊ก


Photo by Franck V.

Leave a Comment