ทำงานอย่างไรให้สนุก เปี่ยมด้วยพลัง

ในวันหนึ่ง ๆ เราทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ดังนั้นการจัดสรร
เวลาให้เหมาะสมจึงต่างกันไปในแต่ละคนแต่ละครอบครัว
แต่ถึงแม้เราจะจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ดีแค่ไหนก็ตามก็เหมือนกับอะไร ๆ ก็ไม่เป็นดั่งใจ
ในบทนี้นั้นผมจะมาแชร์วิธีการที่จะช่วยให้ท่านปรับมุมมองเดิม ๆ เป็นมุมมองใหม่ที่กว้าง สดใสขึ้น ในการที่จะเติมเต็มการทำงานให้สมบูรณ์ขึ้น ขจัดความหงุดหงิดกวนใจออกไป
แล้วจับงานขึ้นมาทำด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน เมื่อนั้นวิธีการที่ถูกต้องก็จะตามมา และการงานก็จะกลายเป็นเรื่องสนุกสนาน เปี่ยมด้วยพลังขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ
รักษาความสมดุลใน 3 จุด (จุดเริ่มต้นวิธีการและเป้าหมาย)
เมื่องานเริ่มเข้าสู่ความจำเจ อาการที่ถ้าหากคุณทุกคนสังเกตให้ดีก็คือ
- อยากทำให้เสร็จเร็ว ๆ จะได้รีบเลิกไปทำอย่างอื่น
- หยุดพักบ่อย ๆ เดินไปชงกาแฟ ไปเข้าห้องน้ำ หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ้าง
- การทำงานไม่ลื่นไหลรู้สึกกดดัน
- รู้สึกว่างานไม่เดินไปข้างหน้า
ความจำเจอาจเกิดกับงานประจำ งานเสริม หรืองานอดิเรกที่คุณรักก็ได้ ความจำเจอาจผสมกับอารมณ์เบื่อ, เครียด ซึ่งถ้าเราหาวันว่าง ๆ นั่งทบทวนอย่างมีเหตุผลก็จะพบสาเหตุและสามารถหาวิธีแก้ไขได้ และหนึ่งในสาเหตุของความจำเจไม่สนุกในการทำงานก็คือการเสียสมดุลในตัวคุณเอง
จุดเริ่มต้น ก็คือ ไอเดีย คุณค่าของงาน
จุดที่สองก็คือ วิธีการ แผนงานต่าง ๆ
จุดที่สามก็คือ เป้าหมาย ผลตอบแทนที่ต้องการ
หากคุณเริ่มไม่สนุกกับงานลองหันมาทบทวนสามจุดนี้ว่าคุณได้คุณค่าอะไรจากการทำงานชิ้นนี้ ใครจะได้ประโยชน์แค่ไหนบ้าง หรือแผนงานที่คุณวางไว้เข้มงวดเกินไปรึเปล่า หรือคุณวางเป้าหมายเกินตัวไปรึเปล่า ลองเช็คจุดเหล่านี้ ปรับให้แผนงานหรือเป้าหมายไม่ยากจนเกินไปจนทำให้คุณกลับมารู้สึกสนุกกับงานอีกครั้ง
ให้งานเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก
ถ้าไม่นับเรื่องส่วนตัวหรือการรับผิดชอบครอบครัวการยกให้งานเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเป็นสิ่งจำเป็น ผมเข้าใจดีว่าการได้หยุดพักผ่อนนั้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่การที่คุณโฟกัสงานเป็นลำดับแรก ๆ ของชีวิตจะทำให้งานนั้นมีคุณค่าไปโดยปริยาย
การรู้คุณค่าของการทำงานทำให้คุณเหมือนได้พักผ่อนในขณะทำงาน เพื่อนหรือคนรักจะมองคุณเปลี่ยนไป แทนที่จะเครียดกับผลลัพธ์คุณกลับรู้สึกสนุกและอยากจะเริ่มงานอยู่เสมอ ใครจะว่าคุณบ้างานก็ช่าง แค่ใจคุณรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานไปเรื่อย ๆ ก็พอ
แยกงานกับเงิน
เป็นสิ่งที่ยากพอสมควรที่จะไม่ให้คนปกติคิดเรื่องรายได้แต่ว่าการแยกการทำงานออกจากผลลัพธ์คือเรื่องเงินทองหรือคำชมอะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องจำเป็น คุณอาจจะรู้สึกเบื่ออยู่แล้วและก็จะเริ่มเบื่อมากขึ้นในแต่ละปีที่ผ่านไป การคิดถึงตัวเงินทำให้คุณโฟกัสผิดจุดและความเครียดก็เกิดขึ้น
คุณรู้อยู่แล้วว่าหากงานดีเงินหรือคำชมที่เป็นผลพลอยได้ก็จะตามมา หากคุณโฟกัสที่เงินนั่นสะท้อนให้เห็นว่าคุณต้องทำงานเพื่อให้ถูกใจใครหลาย ๆ คนซึ่งนั่นเป็นการล็อกเป้าที่ผิดพลาด หากคุณไม่ได้เป็นลูกจ้างองค์กรหรือบริษัทที่ต้องทำตามคำสั่ง การสร้างงานที่เป็นตัวของตัวเองไม่อิงกระแส จะทำให้คุณยอมรับกับผลลัพธ์พร้อมเดินหน้าทำงานต่อไปด้วยความเบิกบานใจ
อ่าน > 10 เว็บไซต์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มพลังชีวิตของคุณ
แยกงานกับเงินออกจากกันด้วยวิสัยทัศน์ที่ดี มองงานเป็นเหมือนสิ่งประดิษฐ์ที่คุณกำลังจะลงแรงและไม่ว่าผลตอบแทนจะเป็นอะไรย่อมคุ้มค่าเสมอ เงินเป็นดั่งโบนัสในความพยายามเพื่อสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาด้วยความเอาใจใส่ และเมื่อคุณมองงานแยกกับเงินการทำงานก็จะเบิกบานเพราะคุณรู้แน่แล้วว่างานเป็นสิ่งที่เป็นผลตอบแทนในตัวมันเอง
รู้จักบริหารงานให้เหมาะกับช่วงเวลา
ผมเคยเขียนไว้ในบทก่อน ๆ เหมือนกันเรื่องการเลือกเวลาทำงาน หากท่านเป็นฟรีแลนซ์หรือทำอาชีพส่วนตัวการบริหารเวลาเป็นเรื่องสำคัญ และการหาเวลาให้งานต่าง ๆ อย่างเหมาะสมเป็นเรื่องที่ควรโฟกัส หากคุณรู้สึกเบื่อเป็นไปได้ที่ลักษณะงานไม่เหมาะสมกับเวลา ลองอ่าน: เส้นตายกับตารางการทำงาน อุปสรรคหรือตัวช่วยให้เป้าหมายบรรลุ
ลองเปลี่ยนแปลงเวลาในการทำงานประเภทต่าง ๆ เช่นตอนเช้าเคยเขียน ช่วงบ่ายวางแผนงานการตลาด ลองเปลี่ยนเวลากันดู หรือถ้ามีเวลาว่างช่วงค่ำก็ลองทดสอบดู การทำงานในช่วงเวลาเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณเพลิดเพลินกับการทำงานมากขึ้น
ถ้าทำแล้วอย่าคิด
ความคิดในเวลาไม่สมควรจะนำมาซึ่งความมุ่งหวังความสำเร็จ และความหมดสนุกในงาน ลงมือทำตามแผนที่คุณวางด้วยตัวคุณหรือทีมงานมาอย่างดีแล้ว อีกนัยหนึ่งคุณอาจจะวางแผนได้ไม่รัดกุมพอจึงทำให้กังวลขณะปฏิบัติ
ทิ้งความกังวลในเรื่องเป้าหมายหากเป็นเป็นเป้าหมายระยะยาว ที่จริงคุณสามารถซอยเป้าหมายให้เล็กลงเพื่อง่ายต่อการปฏิบัติ วางเป้าหมายชั่วครู่โฟกัสงานตรงหน้า
งานจะให้ความเพลิดเพลินกับคุณก็ต่อเมื่อคุณใส่ใจในเนื้องานมากพอ หยุดกังวลถึงผลลัพธ์หรือผลตอบแทนไว้ชั่วครู่ เมื่อนั้นงานก็จะเติบโตในทิศทางที่เป็นธรรมชาติด้วยความใส่ใจของคุณ
ผ่อนสั้นผ่อนยาว
คงมีบ่อยครั้งที่คุณตั้งเป้าอยากจะเขียนหนังสือสัก 10 หน้า แต่แล้วไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์หรืออารมณ์จะพาไปก็แล้วแต่ทำให้คุณไม่สามารถจดจ่อกับงานตรงหน้าได้ ณ เวลานั้นคุณอาจคิดไปว่าทำไมจึงไม่อยากทำ ทำไมงานถึงน่าเบื่อขนาดนี้
ซึ่งบางทีคุณอาจมองสถานการณ์ผิดไป คุณภาพกับปริมาณควรควบคู่ไปในชิ้นงาน ซึ่งบางทีคุณภาพอาจหมายถึงการทำ Reserch, ใช้เวลาคิดไตร่ตรอง, การพูดคุยกับผู้มีความรู้, การลองทำอะไรใหม่ ๆ เพิ่มทักษะ ซึ่งถ้าหากคุณอยากจะเลี่ยงงานเดิม ๆ เพื่อไปพูดคุย หาทักษะใหม่ ๆ ก็ให้รู้ไว้เถอะครับว่า คุณโชคดี..เพราะสมองคุณกำลังอยากเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ ๆ
และเมื่อคุณเปลี่ยนมุมมองคุณก็จะพบว่างานกำลังเติบโตไปในอีกทิศทางหนึ่ง
ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม
จังหวะการทำงานเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณต้องควบคุมให้ดี หากขณะงานกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่คุณไปคิดถึงการเติบโต หรืองานกำลังเติบโตแต่คุณเร่งอยากให้ได้ผลลัพธ์เร็ว ๆ นั่นจะนำมาซึ่งความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลและคุณก็จะรู้สึกไม่สนุกกับงาน
การวางแผนงานเป็นเพียงการสร้างเป้าหมายและวางกรอบการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด หากคุณค่อย ๆ หยิบงานขึ้นมาจัดการไปทีละชิ้นตามเวลา ตามขั้นตอน หากงานสะดุดคุณก็ยังกลับมาเปลี่ยนแผนการทำงานได้ตลอด
ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามตามความหมายก็คือ ใช้เวลาอย่างเหมาะสมในแต่ละขั้นตอน หากงานกำลังมาถึงช่วงสุดท้ายแล้วคุณดันไปคิดถึงการเริ่มต้น หรืองานน่าสนใจอื่น ๆ นั่นก็หมายความว่าคุณเสียจังหวะในการทำงานและความสนุกในงาน
ความไวกับรอบคอบ
หัวข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับหัวข้อที่แล้วที่ว่า “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาน” เพียงแต่เป็นคนละแง่ นักสร้างบล็อกมือใหม่อาจภาคภูมิใจกับผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่จากประสบการณ์ของผมแล้วนั้นนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นขั้นตอนตามธรรมชาติของการทำงานทุกสาขา
เมื่อคุณเขียน ก.ไก่ เป็นครั้งแรกย่อมสวยไม่เท่าครั้งที่หนึ่งร้อย เฉกเช่นเดียวกันกระบวนการทำงานเช่นการเขียนโพสต์ไม่ใช่ว่าจะออกมาดีเลิศในการลงมือเพียงครั้งเดียว การลงมือทำ, แก้ไข, ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องถึงจะเกิดความชำนาญและผลงานที่ได้มาตรฐาน และการข้ามขั้นใจร้อนไวเกินไป เมื่องานไม่ได้ดังใจคุณก็จะท้อและเซ็ง
คุณต้องรอบคอบมากขึ้น และเมื่องานมีความละเอียดขึ้น ความปีติ ความพอใจก็จะเกิดขึ้นในใจของคุณ
ช่างมัน ๆ
ไอเดียต่าง ๆ ที่ผมแนะนำสามมารถนำไปประยุกต์หรือจะจับมัดรวมกันเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับคุณแล้วครับ ว่าจะมองงานแบบไหน งานทุกชิ้นต่างทีอุปสรรคไปคนละแบบ และหากคุณใจเย็น ๆ หยิบวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ ส่วนเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ก็ให้ท่องในใจว่าช่างมัน ๆ แล้วเริ่มวันใหม่ด้วยอารมณ์ที่แจ่มใสต่อไปครับ